ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (Material Recovery Facility: MRF) เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลในหลุมฝังกลบเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ ลดปริมาณขยะหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้แก่ตัวแทนชุมชนใน 6 หมู่ของเขตเทศบาลตำบลบ้านฉาง พร้อมลงพื้นที่นำร่องรับซื้อวัสดุรีไซเคิลผ่านกิจกรรมตลาดนัดรีไซเคิลเคลื่อนที่ ตั้งเป้าส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างรายได้กลับคืนสู่ครัวเรือนและท้องถิ่น และลดวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันพลาสติก อำเภอบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และภาคีเครือข่าย ได้จัดเวิร์กช้อปฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลเพื่อสร้างรายได้และการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลของศูนย์ MRF การใช้งานระบบแอปพลิเคชั่นในการรวบรวมวัสดุรีไซเคิลที่พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกและเก็บบันทึกสถิติ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การแปรรูปของเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อาทิ การผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอย เป็นต้น โดยมีตัวแทนชุมชน โรงเรียน ผู้ประกอบการ และอาสาสมัครซาเล้งในพื้นที่ตำบลบ้านฉางกว่า 60 คนเข้าร่วมอบรม ณ ศูนย์ MRF บ้านฉาง ซึ่งเป็นกลุ่มนำร่องที่จะขยายผลสู่ชุมชนต่าง ๆ ในการคัดแยกและนำส่งวัสดุรีไซเคิลกลับเข้าสู่ศูนย์ฯ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรีไซเคิลวัสดุแต่ละชนิดต่อไป
นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้จัดกิจกรรม “ตลาดนัดรีไซเคิลเคลื่อนที่” ลงพื้นที่ต้นแบบในหมู่ที่ 2 ณ ศาลา SML และหมู่ที่ 7 ณ
โรงเรียนบ้านเขาห้วยมะหาด ตำบลบ้านฉาง เพื่อฝึกอบรมภาคปฏิบัติการรับซื้อวัสดุ
รีไซเคิลแก่กลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับทดลองการใช้งานระบบรวบรวมเชื่อมต่อผ่านระบบแอปพลิเคชั่นจริง
โดยสามารถรับซื้อวัสดุชนิดต่าง ๆ และเช็คราคาซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ โครงการฯ
ยังมีแผนที่จะขยายผลจัดตั้งจุดประจำในการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านฉาง
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และจะขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดอีกด้วย
นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกกิจการเพื่อสังคมและชุมชนสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow เชื่อมั่นว่าพลาสติกมีคุณค่าเกินกว่าจะถูกทิ้งให้เป็นขยะ เพราะพลาสติกมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ ยิ่งเราเพิ่มอัตราการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้มาก ก็ยิ่งช่วยลดคาร์บอนได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปัญหาขยะไปพร้อม ๆ กัน เราจึงมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นต้นทางของการทิ้งขยะให้สามารถคัดแยกวัสดุรีไซเคิลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และยังพัฒนาเป็นต้นแบบซึ่งชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศและในภูมิภาคสามารถมาเรียนรู้และนำไปทำตามได้”
ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเครื่องจักรที่พัฒนาโดยคนไทย มาใช้ประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงการสร้างโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลกให้ยั่งยืนร่วมกันของทุกภาคส่วน”
ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร (MRF) นับเป็นต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ที่ดำเนินการในรูปแบบ “ธุรกิจชุมชน” หรือ Community Enterprise เพื่อเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มีส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการและรับผลประโยชน์ร่วมกัน โดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ ได้รับซื้อพลาสติกใช้แล้ว ได้แก่ ขวด ถุง ฟิล์ม ถาด แก้วพลาสติก และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม และกระดาษ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 – 16.00 น. สามารถสแกน QR Code เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกและติดตามข่าวสารจากศูนย์ฯ ได้ที่ https://lin.ee/mMU87rD
Fri , 25 April 2025
Fri , 25 April 2025
Wed , 23 April 2025
Tue , 22 April 2025